วันพฤหัสบดีที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ภาษาไทยในยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง

ภาษาไทยกับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง
         ภาษาไทย เป็นภาษาทางการของประเทศไทย และภาษาแม่ของชาวไทย และชนเชื้อสายอื่นในประเทศไทย ภาษาไทยเป็นภาษาในกลุ่มภาษาไต ซึ่งเป็นกลุ่มย่อยของตระกูลภาษาไท-กะได้ สันนิษฐานว่า ภาษาในตระกูลนี้มีถิ่นกำเนิดจากทางตอนใต้ของประเทศจีน และนักภาษาศาสตร์บางท่านเสนอว่า ภาษาไทยน่าจะมีความเชื่อมโยงกับ ตระกูลภาษาออสโตร-เอเชียติก ตระกูลภาษาออสโตรนีเซียน ตระกูลภาษาจีน-ทิเบต
         ภาษาไทยเป็นภาษาที่มีระดับเสียงของคำแน่นอนหรือวรรณยุกต์เช่นเดียวกับภาษาจีน และออกเสียงแยกคำต่อคำ เป็นที่ลำบากของชาวต่างชาติเนื่องจาก การออกเสียงวรรณยุกต์ที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละคำ และการสะกดคำที่ซับซ้อน นอกจากภาษากลางแล้ว ในประเทศไทยมีการใช้ ภาษาไทยถิ่นอื่นด้วย
ลักษณะธรรมชาติของภาษา
         ในสมัยก่อน มนุษย์ยังไม่รู้จักใช้ภาษาเหมือนในปัจจุบัน นักปราชญ์ทางภาษาสันนิษฐานว่า ภาษาเริ่มแรกของมนุษย์ คือการใช้อวัยวะสื่อสารให้เข้าใจกัน เช่น ปรบมือ พยักหน้า ยักคิ้ว แลบลิ้น เป็นต้น ซึ่งเราเรียกว่า ภาษาใบ้   ต่อมามนุษย์เริ่มที่จะส่งเสียงเพื่อการสื่อสารให้เข้าใจกัน การส่งเสียงนี้ถือว่าเป็นกำเนิดของภาษา ซึ่งมนุษย์จะเลียนแบบมาจากเสียงธรรมชาติ เช่น เสียงนกร้อง เสียงน้ำตก เสียงเด็กทารก เป็นต้น     จากเสียงที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ มนุษย์ได้นำมาประดิษฐ์เป็นตัวอักษรเพื่อใช้ในการสื่อสาร ตัวอักษรเริ่มแรกของไทยเริ่มขึ้นในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ซึ่งทรงประดิษฐ์อักษรไทยเมื่อปี พ.ศ. ๑๘๒๖ มีพยัญชนะ ๓๙ ตัว สระ ๒๐ ตัว และวรรณยุกต์ ๒ ตัวหลังจากนั้นตัวอักษรไทยได้มีวิวัฒนาการเรื่อยมา ทั้งในเรื่องรูปลักษณะ การวางตัวอักษร และจำนวนของตัวอักษร จนกระทั่งตัวอักษรไทยในปัจจุบัน มีพยัญชนะ ๔๔ ตัว รูปสระ ๒๑ รูป แต่มี ๓๒ เสียง รูปวรรณยุกต์ ๔ รูป แต่มี ๕ เสียง    ไม่แต่เพียงตัวอักษรไทยเท่านั้นที่มีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ความหมายของคำบางคำ และการนำอักษรไทยไปใช้ในการเรียบเรียงถ้อยคำ หรือสำนวนโวหารยังแตกต่างกันไปตามกาลเวลาอีกด้วยสำนวนสมัยพ่อขุนรามคำแหงไม่มีคำเชื่อมใช้ จะเขียนต่อเนื่องกันไป

การเปลี่ยนแปลงของภาษา
         ภาษาที่มีคนใช้พูดอยู่เป็นประจำย่อมมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา แต่การเปลี่ยนแปลงนี้เป็นไปอย่างช้า ๆ ค่อยเปลี่ยนและกลายไปทีละน้อย จึงไม่รู้สึกว่ามีการเปลี่ยนแปลง เราก็สามารถทราบได้โดยการเปรียบเทียบระหว่างภาษาที่ใช้อยู่ในปัจจุบันกับภาษาในอดีต จะเห็นได้จากตัวอย่าง
ภาษาไทยมีการเปลี่ยนแปลงตามลำดับ ตั้งแต่สมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นใช้ในสมัยสุโขทัย ก็มีการเปลี่ยนแปลงมาสู่สมัยอยุธยาและสมัยรัตนโกสินทร์ตามลำดับ เมื่อเราเปรียบเทียบอย่างนี้จะเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนและจะเห็นการวิวัฒนาการของภาษาจากจุดหนึ่งมายังอีกจุดหนึ่ง
         จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่าภาษาย่อมมีการเปลี่ยนแปลงตามภาวะและเทศะ ซึ่งมีลักษณะ
เช่นเดียวกับมนุษย์หรือธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ นั้นก็คือ เกิด แก่ เจ็บ และตาย เป็นธรรมดา คงจะเนื่องด้วยสาเหตุหลายอย่างที่ทำให้ภาษาเปลี่ยนแปลง ได้แก่
         ๑ สภาพภูมิศาสตร์
         ความเป็นอยู่ของมนุษย์ เกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อมและสภาพภูมิศาสตร์ สภาพดินฟ้าอากาศ ซึ่งมีอิทธิพลต่อภาษาของมนุษย์ เช่น ผู้อาศัยอยู่ในแถบอากาศหนาวจัด ผู้พูดไม่เปิดปากเวลาพูด หรือ ผู้อยู่ในถิ่นภูมิประเทศที่แร้นแค้น อาหารการกินไม่อุดมสมบูรณ์ เวลาพูดมีเสียงแข็งกระด้าง
ในขณะเดียวกับผู้อยู่ในถิ่นอุดมสมบูรณ์มักพูดมีเสียงอ่อนหวาน สาเหตุทางด้านนี้จะเปลี่ยนแปลง
ในลักษณะของเสียงพูดที่ "กระด้าง" และ "อ่อนหวาน"
         ๒ ความสะดวกในการใช้ภาษา
         การที่ภาษาเปลี่ยนไปโดยเฉพาะในเรื่องเสียงนั้น คงเนื่องด้วยเมื่อผู้ศึกษาภาษาโบราณหรือภาษาเก่า อาจมีเสียงหรือประโยคที่ใช้ ซึ่งตนไม่สามารถออกเสียงได้ถนัด และคิดว่าภาษาโบราณนั้นยาก จึงเปลี่ยนแปลงเสียงจากภาษาโบราณที่ยากเป็นเสียงที่ผู้เรียนถนัดก็ทำให้ภาษาเปลี่ยนได้ เป็นต้น
         ๓ การเรียนภาษาของเด็กอย่างไม่สมบูรณ์
         ศาสตราจารย์ พระยาอนุมานราชธน ได้อธิบายถึงการพูดภาษาของเด็กไว้ ๕ ระยะ คือ
๑. ออกเสียงพูดให้เด็กได้ยิน
๒. เกิดเป็นรูปเสียงขึ้นในใจของเด็ก
๓. การเลียนออกเสียงพูดของเด็ก
๔. การจำรูปเสียงได้ของเด็ก
๕. รู้จักใช้อวัยวะออกเสียงเพราะจำได้
การพูดภาษาของเด็กทั้ง ๕ ระยะนี้ ย่อมมีลักษณะสมบูรณ์ได้ทั้งหมดหามิได้ เนื่องจากการเรียนภาษาเริ่มจากวัยที่เด็กมาก อวัยวะในการฟังและออกเสียงย่อมต่างจากผู้ใหญ่ ความแตกต่างนี้จะมีขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเวลาผ่านไปหลายชั่วอายุคนจึงกลายเป็นความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดเจน
         ๔ การเรียนรู้ชนิดตั้งแนวเทียบ (Analogy)
         การเรียนรู้การตั้งแนวเทียบ (Analogy) คือ การใช้ความรู้ที่มีอยู่แล้วเป็นแนวเทียบสำหรับเรียนรู้สิ่งใหม่ซึ่งยังไม่มีผู้สอนต่อไป แนวเทียบเป็นเครื่องช่วยให้มีความสะดวกแก่การเรียนภาษาเป็นอันมาก เด็กที่สอนพูดสามารถเรียนพูดได้เร็ว เพราะได้อาศัยแนวเทียบเป็นเครื่องช่วย เช่น เมื่อเด็กได้ยินผู้ใหญ่พูดว่า ไก่ ๒ ตัว และเด็กรู้ว่าตัวเป็นลักษณนามของสัตว์เด็กก็อาจเทียบได้ว่า เป็ด ๒ ตัว หรือ หมา ๒ ตัว โดยยังไม่เคยได้ยินผู้ใหญ่พูดมาก่อน ขบวนการเรียนรู้ชนิดนี้ทำให้มนุษย์เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ด้วยตนเองมากมาย แต่การเรียนรู้โดยวิธีนี้ย่อมไม่ถูกต้องเสมอไป เพราะภาษาย่อมไม่มีกฎตายตัวที่แน่นอน เช่น เมื่อเด็กได้ยินผู้ใหญ่พูดว่า คน ๒ คน และ เมื่อเด็กเห็นพระภิกษุ อาจพูดว่า พระภิกษุ ๒ คน เพราะพระภิกษุเป็นคนลักษณนามก็ย่อมเหมือนกับคน และอีกตัวอย่างในภาษาอังกฤษ เช่น คำนามที่นับได้เมื่อต้องให้เป็นคำนามที่เป็นพหูพจน์สามารถเติม "S" หลังคำนามตัวนั้นได้ เช่น books, cats เป็นต้น เมื่อเด็กเห็นคำนาม Child เมื่อต้องการทำให้เป็นพหูพจน์ก็ใช้วิธีการเรียนรู้ชนิดตั้งแนวเทียบโดยการเติม "S" เป็น Childs  จากการศึกษาถึงการเปลี่ยนแปลงของภาษาต่าง ๆ พบว่าการเรียนรู้ชนิดตั้งแนวเทียบเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ภาษาเกิดมีการเปลี่ยนแปลงประการหนึ่ง
         ๕ จากสังคม
         William Labov ได้แสดงความคิดเห็นไว้ว่า ภาษาเดียวกันที่ใช้อยู่ในสังคมเดียวกัน
จะไม่เหมือนกันทั้งหมด แต่จะแตกต่างกันตามสภาพของสังคมและบุคคล การเปลี่ยนแปลงชนิดนี้จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อรูปใดรูปหนึ่งของหน่วยเดียวกัน กลายเป็นที่นิยมของผู้ใช้ภาษาทำให้มีการเพิ่มมากขึ้นกว่าที่เคยเป็นมา ทำให้ผู้รู้ซึ่งเคยเป็นผู้นิยมใช้มาก่อนมีผู้ใช้น้อยลงไป เช่น ในวงการของสื่อสารมวลชนปัจจุบัน นิยมใช้คำหรือประโยคบกพร่องในภาษาไทย เช่น สองผู้ต้องหา, สองนักมวยไทย นี้ แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงทางภาษาที่เกิดขึ้น
         ๖ จากการยืม
         การยืมสามารถทำให้ภาษาเปลี่ยนแปลงได้มากในทุกระดับทั้งเสียง คำ และโครงสร้างของประโยค เราจึงสามารถกล่าวได้ว่า "การยืม" เป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้ภาษาเปลี่ยนแปลงไป
ภาษาไทยในสมัยอยุธยา
สำเนียงดั้งเดิมของกรุงศรีอยุธยามีความเชื่อมโยงกับชนพื้นเมืองตั้งแต่ลุ่มน้ำยมที่เมืองสุโขทัยลงมาทางลุ่มน้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตกในแถบสุพรรณบุรี, ราชบุรี, เพชรบุรี ซึ่งสำเนียงดังกล่าวมีความใกล้ชิดกับสำเนียงหลวงพระบาง โดยเฉพาะสำเนียงเหน่อของสุพรรณบุรีมีความใกล้เคียงกับสำเนียงหลวงพระบาง ซึ่งสำเนียงเหน่อดังกล่าวเป็นสำเนียงหลวงของกรุงศรีอยุธยา ประชาชนชาวกรุงศรีอยุธยาทั้งพระเจ้าแผ่นดินจนถึงไพร่ฟ้าราษฏรก็ล้วนตรัสและพูดจาในชีวิตประจำวัน ซึ่งปัจจุบันเป็นขนบอยู่ในการละเล่นโขนที่ต้องใช้สำเนียงเหน่อ โดยหากเปรียบเทียบกับสำเนียงกรุงเทพฯในปัจจุบันนี้ ที่ในสมัยนั้นถือว่าเป็นสำเนียงบ้านนอกถิ่นเล็กๆของราชธานีที่แปร่งและเยื้องจากสำเนียงมาตรฐานของกรุงศรีอยุธยา และถือว่าผิดขนบ
ภาษาดั้งเดิมของกรุงศรีอยุธยาปรากฏอยู่ในโองการแช่งน้ำ ซึ่งเป็นร้อยกรองที่เต็มไปด้วยฉันทลักษณ์ที่แพร่หลายแถบแว่นแคว้นสองฝั่งลุ่มแม่น้ำโขงมาแต่ดึกดำบรรพ์ และภายหลังได้พากันเรียกว่า โคลงมณฑกคติ เนื่องจากเข้าใจว่าได้รับแบบแผนมาจากอินเดีย ซึ่งแท้จริงคือโคลงลาว หรือ โคลงห้า ที่เป็นต้นแบบของโคลงดั้นและโคลงสี่สุภาพ โดยในโองการแช่งน้ำเต็มไปด้วยศัพท์แสงพื้นเมืองของไทย-ลาว ส่วนคำที่มาจากบาลี-สันสกฤต และเขมรอยู่น้อย โดยหากอ่านเปรียบเทียบก็จะพบว่าสำนวนภาษาใกล้เคียงกับข้อความในจารึกสมัยสุโขทัย และพงศาวดารล้านช้าง
ด้วยเหตุที่กรุงศรีอยุธยาตั้งอยู่ใกล้ทะเลและเป็นศูนย์กลางการค้านานาชาติทำให้สังคมและวัฒนธรรมเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ต่างกับบ้านเมืองแถบสองฝั่งโขงที่ห่างทะเลเป็นเหตุที่ทำให้มีลักษณะที่ล้าหลังจึงสืบทอดสำเนียงและระบบความเชื่อแบบดั้งเดิมไว้ได้เกือบทั้งหมด ส่วนภาษาในกรุงศรีอยุธยาก็ได้รับอิทธิพลของภาษาจากต่างประเทศจึงรับคำในภาษาต่างๆมาใช้ เช่นคำว่า กุหลาบ ที่ยืมมาจากคำว่า กุล้อบ ในภาษาเปอร์เซีย ที่มีความหมายเดิมว่า น้ำดอกไม้ และยืมคำว่า ปาดรื (Padre) จากภาษาโปรตุเกส แล้วออกเสียงเรียกเป็น บาทหลวง เป็นต้น
ภาษาไทยกับวัยรุ่นไทย
           สังคมเราในปัจจุบันนี้โลกเราได้มีเทคโนโลยีมาเกี่ยวข้องอย่างมากในชีวิตของคนไทยเรา ทำให้มีความสะดวกในการใช้ชีวิตประจำวันรวมทั้งการสื่อสารด้วย ซึ่งในประเทศไทยนี้เยาวชนยุคใหม่บางส่วนได้นำค่านิยมผิด ๆ มาใช้กัน นั้นก็คือการใช้ภาษาไทยที่ผิด โดยเยาวชนกลุ่มนั้นคิดว่าเมื่อใช้แล้วมันเก๋ดี มันเท่ห์ดี แต่หารู้ไม่ว่าอาจจะทำให้ภาษาไทยของเราเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิงและทำให้เยาวชนยุคหลังๆใช้ภาษาไทยไม่ถูกต้องตามไปด้วย ประเทศไทยของเรามีภาษาเป็นของตนเองแสดงออกถึงความเป็นเอกราชและความภาคภูมิใจของคนไทยเรา ภาษาไทยเป็นมรดกของคนไทยมายาวนาน แต่เยาวชนยุคบางส่วนใหม่กลับไม่รู้คุณค่าของมันเลย
           การใช้ภาษาไทยที่ผิด ๆ ของวัยรุ่นนั้นเป็นสิ่งที่จะทำให้ภาษาไทยวิบัติลงไปจริง ๆ ซึ่งจะเห็นได้จากที่วัยรุ่นใช้สื่อสารกันทาง msn เช่นคำว่า ทามอะไรอยู่-ทำอะไรอยู่ เปนอะไร-เป็นอะไร เพราะคำเหล่านี้ทำให้พิมพ์ง่าย สื่อสารกันได้เร็ว และดูเก๋ด้วย แต่ถ้าคิดอีกแง่มุมหนึ่ง การที่ภาษาไทย 1คำ สามารถเขียนได้หลายแบบ เพราะภาษาไทยมีพยัญชนะที่ออกเสียงเหมือน ๆ กัน มีสระที่เสียงคล้าย ๆ กัน จึงทำให้สามารถเขียนออกมาได้หลายแบบ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าภาษาไทยนั้นสามารถดัดแปลง เปลี่ยนแปลงคำได้หลากหลาย โดยที่ความหมายเหมือนเดิม แต่ลักษณะการเขียนผิดออกไป เป็นเสมือนการสร้างคำ สร้างภาษให้มีการวิบัติมากขึ้น การใช้คำใช้ภาษาไปผิดๆ ทำให้เป็นการฝึกนิสัยในการใช้ภาษาไทยที่ไม่ถูกต้องตามหลักภาษา และฉันกลาพูดได้เลยว่าวัยรุ่นไทยสมัยนี้เขียนคำ สะกดคำในภาษาไทย ได้ไม่ถูกตามตัวสะกด และเขียนภาษาไทยได้ไม่ถูกต้องตามหลักภาษา พูดไม่ถูกอักขระ ไม่มีคำควบกล้ำ บางคนพูดภาษาไทยไม่ชัดเจนด้วยซ้ำไป

ปัญหาการใช้ภาษาไทย
           ปัญหาการใช้ภาษาไทยนั้นเกิดขึ้นจากจุดเล็กๆจนในขณะนี้ลุกลามไปทุกหย่อมหญ้า แม้แต่ในสถานศึกษาอันเป็นแหล่งหล่อหลอมความรู้ก็มิได้ละเว้น ภาษาไทยกลายเป็นวิชาที่น่าเบื่อของผู้เรียน และสุดท้ายผู้เรียนจึงได้รับความรู้แบบงูๆปลาๆที่จะนำไปใช้ต่อไปอย่างผิดๆ หากเราจะแยกปมปัญหาการใช้ภาษาไทยในโรงเรียนนั้น สามารถแยกเป็นประเด็นใหญ่ๆ ได้     ประเด็น คือ
           ๑.ปัญหาการใช้ภาษาไทยที่เกิดจาก ครู เนื่องจากครู คือ ผู้ประสาทวิชา เป็นผู้ให้ความรู้แก่ศิษย์ ดังนั้นความรู้ในด้านต่างๆ เด็กๆจึงมักจะได้รับมาจากครูเป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่ครูบางคนนั้นมีความรู้แต่ไม่แตกฉาน โดยเฉพาะวิชาภาษาไทยเป็นวิชาที่มีความละเอียดอ่อน และมีส่วนประกอบแยกย่อยอย่างละเอียดลออ เมื่อครูไม่เข้าใจภาษาไทยอย่างกระจ่าง จึงทำให้นักเรียนไม่เข้าใจตามไปด้วย จนพานเกลียดภาษาไทยไปในที่สุด ซึ่งเป็นปัญหาที่ปรากฏให้เห็นอยู่มากมายในปัจจุบัน
           ความเป็นครูนั้น แน่นอนการสอนย่อมสำคัญที่สุด ครูบางคนมีความรู้อยู่ในหัวเต็มไปหมดแต่กลับสอนไม่เป็น ซึ่งครูส่วนใหญ่มิได้ยอมรับปัญหานี้ บางคนสักแต่ว่าสอน แต่ไม่เข้าใจเด็กว่าทำอย่างไร อธิบายอย่างไร เด็กซึ่งเปรียบเสมือนผ้าข้าวนั้นจะซึมซับเอาความรู้จากท่านไปได้มากที่สุด การทำความเข้าใจเด็กจึงเป็นส่วนประกอบหลักที่สำคัญไม่แพ้ภูมิความรู้ที่มีอยู่ในตัวครูเลย   ครูจึงควรหันกลับมายอมรับความจริง และพยายามปรับปรุงแก้ไขตนเองให้เหมาะสมกับที่เป็นผู้รู้ที่คนทั่วไปยอมรับนับถือ
           ๒. ปัญหาการใช้ภาษาไทยที่เกิดจากนักเรียน ในสังคมยุคไซเบอร์ ซึ่งสามารถเข้าไปใช้บริการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้ทุกภาคส่วน เด็กซึ่งเป็นวัยที่อยากรู้อยากลองจึงมิได้ให้ความสนใจเพียงแค่การศึกษาค้นคว้าข้อมูลการศึกษาเท่านั้น หากแต่สนใจกับภาคบันเทิงควบคู่ไปด้วย และโดยแท้จริงแล้ว มักจะให้ความสำคัญกับประเด็นหลังมากกว่าการค้นคว้าความรู้เสียด้วยซ้ำ ดังนั้นจึงสามารถกล่าวได้ว่าการใช้อินเทอร์เน็ตของเด็กนั้นเป็นปมปัญหาสำคัญยิ่งที่ไม่ควรมองข้าม
ปัญหาการใช้ภาษาไทยที่เกิดจากอินเทอร์เน็ตนั้นเริ่มลุกลามมาจากโปรแกรมแชทรูมและเกมออนไลน์ ซึ่งดูคล้ายเป็นการสนทนากันธรรมดา แต่เมื่อได้เข้าไปสัมผัสแล้ว มิใช่เลย การสนทนาอันไม่มีขีดจำกัดของภาษาทำให้เกิดปัญหาขึ้นมากมาย ดังเช่นที่พบตามหน้าหนังสือพิมพ์ในปัจจุบัน และในขณะเดียวกันก็สร้างปัญหาให้แก่วงการภาษาไทยด้วย นั่นคือการกร่อนคำและการสร้างคำใหม่ให้มีความหมายแปลกไปจากเดิม หรืออย่างที่เรียกว่าภาษาเด็กแนวนั่นเอง
           น่าเสียดายที่การใช้สำนวนประกอบการพูด และการเขียนในปัจจุบันสื่อความหมายได้ไม่ดีเท่าที่ควรเพราะเราไม่เข้าใจความหมายของสำนวนหรือใช้สำนวนผิด สาเหตุที่ทำให้เราไม่เข้าใจความหมายของสำนวนหรือใช้สำนวนผิดอาจมีหลายสาเหตุด้วยกัน แต่สาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งก็คือ มีการเปลี่ยนแปลงถ้อยคำและความหมายของสำนวนเก่า ทั้งนี้เนื่องจากเวลาผ่านไป สิ่งแวดล้อมต่างๆ เปลี่ยนไปคนรุ่นใหม่จึงใช้สำนวนตามความเข้าใจของตนซึ่งผิดไปจากสำนวนเดิม ตัวอย่างเช่นมีการเปลี่ยนแปลงความหมาย
         การรักษาภาษาไทยที่เป็นเอกลักษณ์ดั้งเดิมของไทยที่มีมาแต่สมัยพ่อขุนรามคำแหงทรงประดิษฐ์อักษรไทยให้คนไทยได้ใช้มาจนถึงทุกวันนี้ ย่อมเป็นสิ่งที่ดีกว่าที่จะใช้ภาษาที่เก๋ไก๋แต่ทำให้ภาษาพ่อภาษาแม่ของเราวิบัติไป จึงอยากเชิญชวนให้คนไทยทุกคนช่วยกันรณรงค์ให้ใช้ภาษาไทยที่ถูกต้อง และช่วยกันรักษาอนุรักษ์ภาษาที่เป็นสิ่งที่เราใช้แสดงความเป็นไทย ความเป็นเอกราช ของประเทศไทยเราเอง ช่วยกันสืบต่อให้คนรุ่นหลังของเราได้ใช้ภาษาไทยต่อไป